Data Subject Right สิทธิของเจ้าของข้อมูลตาม PDPA มีอะไรบ้าง?
Data Subject Right หรือสิทธิของเจ้าของข้อมูลตามกำหนด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ( PDPA ) ได้มีการบัญญัติถึงสิทธิของเจ้าของ Data Subject Rights ข้อมูลส่วนบุคคลไว้ 8 ประการ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. สิทธิในการเข้าถึงและขอรับสำเนา (Right of Access and Copy) เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตัวเจ้าของข้อมูลเองซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล หรือขอให้เปิดเผยถึงการได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวที่ตนไม่ได้ให้ความยินยอมไว้
2. สิทธิในการโอนย้ายข้อมูลส่วนบุคคล (Right to Data Portability) เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอรับข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับเจ้าของข้อมูลจากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลได้ ในกรณีที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลได้ทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นอยู่ในรูปแบบที่สามารถอ่านหรือใช้งานโดยทั่วไปได้ด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ทำงานได้โดยอัตโนมัติและสามารถใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลได้ด้วยวิธีการอัตโนมัติ รวมทั้งมีสิทธิ ดังต่อไปนี้
- ขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลส่งหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลในรูปแบบดังกล่าวไปยังผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลอื่นเมื่อสามารถทำได้ด้วยวิธีการอัตโนมัติ
- ขอรับข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลส่งหรือโอนข้อมูลส่วนบุคคลในรูปแบบดังกล่าวไปยังผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลอื่นโดยตรง เว้นแต่โดยสภาพทางเทคนิคไม่สามารถทำได้
3. สิทธิในการคัดค้านการประมวลผลข้อมูล (Right to Object) เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนเมื่อใดก็ได้ ดังต่อไปนี้
- กรณีที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บรวบรวมได้โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องขอความยินยอม เว้นแต่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลพิสูจน์ได้ว่า
- การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลได้แสดงให้เห็นถึงเหตุอันชอบด้วยกฎหมายที่สำคัญยิ่งกว่า
- การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้นเป็นไปเพื่อก่อตั้งสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย การปฏิบัติตามหรือการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย หรือการยกขึ้นต่อสู้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย
- กรณีที่เป็นการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการตลาดแบบตรง
- กรณีที่เป็นการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หรือสถิติ เว้นแต่เป็นการจำเป็นเพื่อการดำเนินภารกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
4. สิทธิในการขอลบหรือทำลายขเ้อมูลส่วนบุคคล (Right to Erasure) เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลดำเนินการลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
- เมื่อข้อมูลส่วนบุคคลหมดความจำเป็นในการเก็บรักษาไว้ตามวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
- เมื่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลถอนความยินยอมในการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนั้นได้ต่อไป
- เมื่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อาจปฏิเสธคำขอ หรือกระทำการคัดค้านได้
- เมื่อข้อมูลส่วนบุคคลได้ถูกเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่กำหนดไว้ในหมวดนี้
5. สิทธิในการขอระงับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Right to Restriction of Processing) เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีสิทธิขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
- เมื่อผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ในระหว่างการตรวจสอบตามที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลร้องขอให้ดำเนินการตามที่เจ้าของข้อมูลร้องขอ
- เมื่อเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องลบหรือทำลาย แต่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลขอให้ระงับการใช้แทน
- เมื่อข้อมูลส่วนบุคคลหมดความจำเป็นในการเก็บรักษาไว้ตามวัตถุประสงค์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล แต่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลมีความจำเป็นต้องขอให้เก็บรักษาไว้เพื่อใช้ในการก่อตั้งสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายการปฏิบัติตามหรือการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย หรือการยกขึ้นต่อสู้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย
- เมื่อผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ในระหว่างการพิสูจน์ หรือตรวจสอบ เพื่อปฏิเสธการคัดค้านของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
6. สิทธิในการแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลให้ถูกต้อง (Right to Rectification) ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องดำเนินการให้ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นถูกต้องเป็นปัจจุบัน สมบูรณ์ และไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ในกรณีที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลร้องขอให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลดำเนินการ หากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่ดำเนินการตามคำร้องขอ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลต้องบันทึกคำร้องขอของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลพร้อมด้วยเหตุผลไว้ในรายการตาม มาตรา 39
7. สิทธิในการแจ้งให้ทราบของข้อมูลส่วนบุคคล (Right to be informed) เจ้าของข้อมูลมีสิทธิได้รับแจ้งเกี่ยวกับรายละเอียดการเก็บรวบรวม ใช้ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยผู้ควบคุมข้อมูลมีหน้าที่แจ้งถึงวัตถุประสงค์ในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บรวบรวม ระยะเวลาในการเก็บรวบรวม ช่องทางในการติดต่อผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น และในกรณีที่ผู้ควบคุมข้อมูลจะทำการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ในการประมวลผลภายหลัง ผู้ควบคุมข้อมูลต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลทราบถึงวัตถุประสงค์ใหม่ด้วย
8. สิทธิในการถอดถอนความยินยอมของข้อมูล (Right to Withdraw Consent) เจ้าของข้อมูลจะใช้สิทธิในการถอนความยินยอมได้เมื่อมีการประมวลผลข้อมูลโดยใช้ฐานความยินยอมเท่านั้น โดยเจ้าของข้อมูลจะถอนความยินยอมเมื่อใดก็ได้หากไม่มีข้อจำกัดสิทธิ และวิธีการถอนความยินยอมต้องง่ายในระดับเดียวกับวิธีการขอความยินยอมเมื่อเจ้าของข้อมูลถอนความยินยอมแล้ว ผู้ควบคุมข้อมูลจะต้องแจ้งถึงผลกระทบจากการถอนความยินยอมและต้องยุติการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว
ข้อมูลเพิ่มเติมตามมาตรา 39
มาตรา 39 ให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลบันทึกรายการ อย่างน้อยดังต่อไปนี้ เพื่อให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลและสำนักงานสามารถตรวจสอบได้ โดยจะบันทึกเป็นหนังสือหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้
- ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีการเก็บรวบรวม
- วัตถุประสงค์ของการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลแต่ละประเภท
- ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
- ระยะเวลาการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล
- สิทธิและวิธีการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับบุคคลที่มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลและเงื่อนไขในการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลนั้น
- การใช้หรือเปิดเผยข้อมูล
- การปฏิเสธคำขอหรือการคัดค้าน
- คำอธิบายเกี่ยวกับมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล
ก่อนให้ความยินยอมในการใช้ข้อมูล เจ้าของข้อมูลควรใส่ใจในการคุ้มครองข้อมูลของตนเองด้วย อาทิ
- ไม่ด่วนยินยอมหรือให้ข้อมูล โดยที่ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดของขอบเขตการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล >> ข้อมูลใดบ้างที่จะจัดเก็บ วัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูล ระยะเวลาการเก็บข้อมูล ชื่อและเบอร์ของบริษัทหรือบุคคลที่รับผิดชอบต่อการเก็บข้อมูล
- คำนึงถึงความอิสระ และไม่มีเงื่อนไขแอบแฝงโดยต้องไม่นำการให้ความยินยอมมาเป็นเงื่อนไขในการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ
- ควรเก็บ/บันทึกหลักฐาน เผื่อใช้ในการร้องเรียนในกรณีที่พบว่าข้อมูลส่วนบุคคลถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยอาจถ่ายภาพหรือขอสำเนาเอกสารการให้ความยินยอม
- ระมัดระวังการให้ข้อมูลและการเปิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล แก่เว็บไซต์/แอปพลิเคชัน ที่มีการขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล โดยให้พิจารณาตามความจำเป็น โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการเงิน เช่น การให้ข้อมูลบัตรเครดิตเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ สำหรับแอปพลิเคชันที่ไม่ได้ใช้เป็นประจำ อาจเลือกให้ข้อมูลเพื่อใช้ครั้งเดียวและไม่ให้บันทึกข้อมูลบัตรไว้ในระบบ เป็นต้น
ดังนั้น การบังคับใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นการสร้างบรรทัดฐานในการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากโดยกำหนดแนวทางการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้องค์กรทุกแห่งในการจัดเก็บ ใช้ และเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลในประเทศไทย พร้อกำหนดแนวปฏิบัติตาม ดังนั้น บุคคลที่มีสถานะเป็น ‘เจ้าของข้อมูล’ ที่ไปใช้บริการต่าง ๆ พึงตระหนักถึงทางเลือกในการให้ความยินยอมในการจัดเก็บ ใช้ และเปิดเผยข้อมูล เพราะบุคคลมีสิทธิถอนความยินยอมได้ทุกเมื่อ สรุปแล้ว สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล หรือ Data Subject Right จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกๆคนจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญในสิทธิที่ทุกคนมีนั้นเองค่ะ
สามารถอ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA และสายงาน HR คลิ๊ก!!!