กล้องวงจรปิด CCTV เกี่ยวกับ PDPA อย่างไร
การใช้กล้อง CCTV หรือกล้องวงจรปิด เพื่อใช้ในการรักษาความปลอดภัยและป้องกันการก่อให้เกิดอาชญากรรม แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของบุคคลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้นั้นเป็นข้อมูลส่วนบุคคลล้วนทั้งสิ้นของผู้ถูกบันทึกภาพ ดังนี้ ผู้ที่ใช้กล้องจึงมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจในข้อที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ PDPA ) เพื่อจัดการให้วิธีการจัดเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล รวมทั้งการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
แต่ทั้งนี้เมื่อเกิดการพิจารณาฐานการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว ก็จะมีฐานการประมวล 2 ฐานที่รองรับเหตุผลหรือความจำเป็นในการดำเนินการใช้งานการติดตั้งกล้องในพื้นที่และอาคารสำนักงานเพื่อบันทึกภาพเพื่อใช้ในด้านการเฝ้าระวังทางด้านความปลอดภัย คือ ฐานประโยชน์อันชอบธรรม (Legitimate Interest) และ ฐานหน้าที่ตามกฎหมาย (Legal Obligation) นั่นเอง
- ฐานประโยชน์อันชอบธรรม (Legitimate Interest) เพื่อการจำเป็นต่อการดำเนินการเพื่อประโยชน์โดยชอบธรรมของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือของบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลโดยเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลสามารถคาดหมายได้อย่างสมเหตุสมผล เว้นแต่ ประโยชน์ดังกล่าวมีความสำคัญน้อยกว่าสิทธิขั้นพื้นฐานในข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ตัวอย่างข้อความ
- เพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่พนักงาน ผู้ใช้บริการ และบุคคลอื่นที่เข้ามาภายในอาคารและสถานที่ รวมถึงการดูแลทรัพย์สินของบริษัทไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องสามารถเข้าออกเขตหวงห้าม รวมถึงใช้ในการสอบสวนเหตุต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในอาคารและสถานที่
- เพื่อประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย ในการตรวจสอบดูแลความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของบริษัทฯ และของบุคคลทั่วไป
- ฐานหน้าที่ตามกฎหมาย (Legal Obligation) เพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ตัวอย่างข้อความ
- เพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายตามที่หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมายร้องขอ หรือใช้เพื่อเป็นพยานหลักฐานกรณีเกิดเหตุอาชญากรรม หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นภายในหรือบริเวณอาคารและสถานที่
วัตถุประสงค์ในการใช้กล้อง CCTV มีกี่กรณี
ในบทความนี้ ผู้เขียนแบ่งการใช้กล้องวงจรปิด เป็น 2 กรณี โดยแยกตามวัตถุประสงค์ของการใช้ ดังนี้
กรณีที่ 1 การใช้กล้อง เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัว
ในกรณีการติดตั้งกล้องเพื่อรักษาความปลอดภัยในบ้านและสมาชิกในครอบครัวนั้น แม้ว่าข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคลก็ตาม แต่ก็เป็นข้อยกเว้นที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ตามที่กฎหมายกำหนด ที่ไม่ได้มีการบังคับที่ว่าการเก็บรวบรวม การใช้ หรือการเปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคลของคนในครอบครัวเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น
กล่าวคือ คนที่ติดตั้งกล้อง เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวสามารถเก็บประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยไม่ต้องมีการพิจารณาถึงฐานในการประมวลผลตามกฎหมายแต่อย่างใด แต่ในการติดตั้งตามวัตถุประสงค์ข้างต้น จะต้องเป็นการใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวอย่างแท้จริงเท่านั้น เช่น ต้องไม่ทำการติดตั้งกล้อง ที่ใช้ถ่ายนอกเหนือบริเวณพื้นที่บ้านของตนเอง
กรณีที่ 2 การใช้กล้อง เพื่อประโยชน์ของหน่วยงาน ร้านค้านหรือองค์กรต่าง ๆ
การติดตั้งกล้อง เพื่อประโยชน์ของหน่วยงาน ในร้านค้าหรือองค์กรต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้วการติดตั้งเพื่อใช้เป็นการรักษาความปลอดภัยของบุคคลหรือทรัพย์สินของหน่วยงาน เห็นได้ว่ากรณีนี้ไม่อยู่ภายใต้ข้อยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ PDPA เนื่องจากไม่ใช่การใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ดังนี้ ผู้ที่ใช้กล้องวงจรปิด ในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลจึงต้องมีฐานทางกฎหมายมารองรับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวและมีหน้าที่ดำเนินการให้สอดคล้องกับฐานตามที่กฎหมายกำหนดไว้นั้น
โดยผู้ที่ติดตั้งกล้องในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลนั้นมีหน้าที่แสดงให้เห็นว่าการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลเป็นไปเพื่อผลประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายของตนเอง และผลประโยชน์นั้นมีความสำคัญไม่น้อยกว่าสิทธิพื้นฐานของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลตามที่กำหนดไว้ เมื่อมีการเก็บรวบรวมข้อมูลแล้ว จะต้องมีการจำกัดบุคคลที่สามารถเข้าถึงในตัวของข้อมูล และจัดให้มีการลบหากไม่จำเป็นต้องการใช้ข้อมูลนั้น ๆ แล้ว

บทลงโทษถ้าเราไม่ปฏิบัติตามร้ายแรงแค่ไหน
ในตามหลักแล้วเราจะต้องแจ้งให้ผู้ที่เข้ามายังสถานที่ของเราให้ทราบว่าเรานั้นจะมีการบันทึก หรือเก็บรายละเอียดในการเข้าออก และมีการติดตั้งระบบกล้องวงจร โดยใช้วิธีในการติดประกาศที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน รวมไปถึงทำการประกาศในตัวนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมีการระบุเกี่ยวกับการจัดเก็บ การบันทึก และการนำข้อมูลไปใช้ที่บันทึกผ่านผ่านกล้องวงจร ตามรายละเอียดที่ พรบ.กำหนด หรือที่เราอาจเรียกได้ว่า CCTV Privacy Policy นั้นเองค่ะ
ซึ่งหากเราไม่มีการติดประกาศแจ้งให้ชัดเจนถูกต้อง เราอาจจะมีความผิด แต่ถ้าเราพูดถึงกรณีร้ายแรงสุดของโทษทางปกครองแล้วนั้น จะมีความผิดในโทษโดยการโทษปรับสูงสุดถึง 5 ล้านบาทเลยทีเดียว!!
ข้อเสนอแนะ
การติดตั้งและการใช้งานกล้องวงจร ในพื้นที่และอาคารสำนักงานเพื่อบันทึกภาพเพื่อประโยชน์ในด้านการเฝ้าระวังภัยและในด้านการรักษาความปลอดภัย ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือข้อมูลส่วนบุคคล เพราะเนื่องจากเป็นการดำเนินการเพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพของบุคคล และดูแลรักษาความปลอดภัยในบริเวณของสถานที่ของตนรับผิดชอบ ซึ่งเป็นการกระทำที่เข้าข่ายในฐานทางกฎหมายประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของสถานที่นั้น ๆ และการปฏิบัติตามกฎหมายของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล แต่ทั้งนี้สิ่งที่ควรดำเนินการ คือ
- ทำการแจ้งทุกคนที่จะถูกบันทึกภายใต้กล้องวงจร โดยติดป้ายประกาศแจ้งให้ผู้อ่านทราบรายละเอียดอย่างชัดเจนว่ากำลังถูกตรวจติดตาม เช่น พื้นที่นี้มีการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เพื่อบันทึกภาพและวิดีโอ เพื่อประโยชน์ในด้านการเฝ้าระวังและด้านความปลอดภัย
- การรักษาและจัดทำนโยบาย CCTV Privacy Policy ที่ชัดเจนเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของการตรวจติดตามจากที่มีการกำหนดไว้
- ตัวอย่างข้อความเพื่อระบุถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บรวบรวมข้อมูล เช่น เราจะทำการเก็บภาพเคลื่อนไหวหรือภาพนิ่งซึ่งสามารถที่จะสามารถจดจำได้ว่าเป็นคุณ เสียงของคุณ รวมถึงทรัพย์สินของคุณ เช่น ยานพาหนะ หรือแหล่งข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนได้ตามที่เห็นได้ผ่านการติดตั้งกล้อง เมื่อเข้าไปในพื้นที่ที่ได้ทำการตรวจสอบภายในสถานที่ อาคาร และพื้นที่ใดๆ ของเรา ผ่านระบบและอุปกรณ์กล้อง
ตัวอย่างข้อความเพื่อระบุวัตถุประสงค์ของการเก็บรวบรวมข้อมูล
เช่น
- เพื่อประโยชน์ต่อชีวิต เป็นเรื่องจำเป็นต่อการขัดขวาง ป้องกัน และ/หรือ ระงับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และสุขภาพของบุคคล เช่น เพื่อปกป้องสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงทรัพย์สินของคุณ
- เป็นประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายของเรา ในการคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของคุณ รวมถึงทรัพย์สินของของคุณ อาคาร สถานที่ และทรัพย์สินของเราจากความเสียหาย ความขัดข้อง การทำลายทรัพย์สิน และอาชญากรรมอื่นๆ
- เพื่อช่วยเหลือแก้ไขข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในกระบวนการทางวินัยหรือกระบวนการยุติเรื่องร้องทุกข์อย่างมีประสิทธิภาพ
- เพื่อช่วยเหลือในการสอบสวนและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการร้องเรียน และการแจ้งเบาะแส
- เพื่อช่วยเหลือในการเริ่มหรือต่อสู้คดี
- เพื่อการปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้ การให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ และ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะ กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน
สามารถอ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับกฎหมาย PDPA และสายงาน HR คลิ๊ก!!!